สมัยกรุงธนบุรี


สมัยกรุงธนบุรี
แผ่นดินอยุธยาต้องพินาศสิ้นเพราะน้ำมือพม่าใน ปี พ.. ๒๓๑๐  สมเด็จพระเจ้าตากสินครองกรุงธนบุรีปกครองแผ่นดินสยามสืบมา เมืองขุขันธ์ก็ยังขึ้นอยู่กับกรุงธนบุรีเป็นปกติ

ชาวขุขันธ์เข้าร่วมราชการสงครามในศึกลานช้าง
สาเหตุเกิดจากพระวอ พระตา ซึ่งเดิมเป็นเสนาบดีของกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) แต่มีเหตุบาดหมางกันขึ้นกับเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต จึงได้พาครอบครัวบ่าวไพร่หนีมาอยู่ที่เมืองลุ่มภู แล้วตกแต่งบ้านเมืองจัดสร้างค่ายคูประตูหอรบให้มั่งคงแข็งแรง ขนานนามเมืองใหม่ว่า "เมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้ข่าวและถือว่า พระวอ พระตา เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดิน จึงได้แต่งกองทัพยกมาตีอยู่ ๓ แต่กำลังของพระวอ พระตา มีน้อยจึงสู้ไม่ได้ พระตาได้สิ้นชีพในที่รบ พระวอกับพวกได้ตีฝ่าวงล้อมไปได้ แล้วไปขอพึ่งพระเจ้าองค์หลวงแห่งเมืองนครจำปาศักดิ์ (เจ้าไชยกุมาร) โดยไปตั้งมั่นอยู่ที่เวียงดอนกอง เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้แต่งกองทัพติดตามไป แต่เจ้าไชยกุมารได้ไกล่เกลี่ยไว้จึงทำให้การศึกยุติลงชั่วระยะเวลาหนึ่ง อยู่ต่อมาประมาณ ๓ ปี เจ้าเมืองจำปาศักดิ์กับพระวอเกิดขัดใจและเป็นอริกันขึ้นพระวอจึงแต่งให้ท้าวเพี้ยถือศุภอักษรคุมเครื่องราชบรรณาการไปยังนครราชสีมา และขอขึ้นกับกรุงธนบุรีสืบไป
ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทราบข่าวว่า พระวอเป็นอริกับเจ้านครจำปาศักดิ์ เห็นเป็นโอกาสที่จะกำจัดพระวอได้ จึงแต่งให้พระยาสุโพเป็นแม่ทัพยกมาตีพระวอเมื่อจุลศักราช ๑๑๓๙ (.. ๒๓๒๐) กองทัพพระวอสู้ไม่ได้จึงแตกทัพหนีไป กองทัพเวียงจันทน์ตามไปล้อมจับพระวอได้ที่บ้านสักเมืองสมอเลียบ ริมฝั่งแม่น้ำโขงเหนือเมืองเก่า (ตรงกันข้ามปากเซ) ขึ้นมาเล็กน้อยและได้ฆ่าเสีย
ฝ่ายท้าวก่ำบุตรพระวอ ท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหมบุตรพระตาหนีไปได้ จึงแต่งให้คนถือหนังสือบอกไปยังเมืองนครราชสีมา ให้นำความกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อทรงทราบ
มรณกรรมของพระวอนับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญของประวัติหัวเมืองมณฑลอีสานและประวัติศาสตร์ไทยมาก โดยทางกรุงธนบุรีถือว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นกรุงศรีสัตนาคนหุตกระทำการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพบังอาจยกทัพมารังแกไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในขอบขันธสีมา
ครั้นจุลศักราช ๑๑๔๐ (.. ๒๓๒๑) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพยกไปทางบกสมทบกับกำลังเกณฑ์ไพร่พลจากเมืองสุรินทร์ เมือง   ขุขันธ์ เมืองสังขะ และโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาทแต่ครั้งดำรง
พระยศเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ เป็นแม่ทัพยกไปทางกัมพูชาเกณฑ์พลเมืองเขมรต่อเรือรบยกขึ้นไปตามลำน้ำโขง กองทัพพระยาสุโพรู้ข่าวก็ถอยกลับไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต กองทัพไทยยกขึ้นไปตีได้เมืองนคร-จำปาศักดิ์ พระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) พาครอบครัวไปตั้งอยู่ที่เกาะไชยกองทัพไทยตามไปจับตัวได้ ต่อจากนั้นกองทัพไทยก็เลยยกไปตีเมืองนครพนมแล้วยกไปล้อมเมืองเวียงจันทร์ไว้ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้หนีไปอยู่ที่เมืองคำเกิด กองทัพไทยตีได้เมืองเวียงจันทน์แล้วตั้งให้พระยาสุโพเป็นผู้รั้งเมืองเวียงจันทน์
การศึกครั้งนี้เป็นผลทำให้กรุงศรีสัตนาคนหุตและนครจำปาศักดิ์ ตกมาเป็นประเทศราชของไทยตั้งแต่นั้นมา และกองทัพไทยได้อัญเชิญพระแก้วมรกตลงมายังกรุงธนบุรีด้วย ซึ่งปัจจุบันได้ประดิษฐานอยู่ที่อยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทยอยู่จนบัดนี้
ในการไปราชการทัพครั้งนี้ หลวงปราบ (เชียงขัน) ได้เป็นทหารเอกร่วมไปในกองทัพด้วย ทำศึกจนได้ชัยชนะ ขากลับเมืองขุขันธ์หลวงปราบ (เชียงขัน) ได้หญิงม่ายชาวลาวคนหนึ่งกลับมาเป็นภรรยามีลูกชายติดมาด้วยชื่อท้าวบุญจันทร์
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นความดีความชอบของเจ้าเมืองทั้งสามที่ช่วยราชการทัพในการตีเมืองนครจำปาศักดิ์ และเมืองเวียงจันทน์ได้สำเร็จ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเมืองขุขันธ์ เจ้าเมืองสุรินทร์ และเจ้าเมืองสังขะ เลื่อนขึ้นเป็นตำแหน่งพระยาในบรรดาศักดิ์เดิมทั้งสามเมือง
ในปีเดียวกันนี้ (.. ๒๓๒๑) พระยาขุขันธ์ (ตากะจะ) ถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงปราบ (เชียงขัน) เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองคนที่ ๒ และในปีนั้นเองเจ้าเมืองขุขันธ์คนใหม่ ได้อพยพพลเมืองย้ายเมืองมาอยู่ที่บ้านแตระ (อำเภอขุขันธ์ ในปัจจุบัน) เพราะเมืองขุขันธ์เดิม (บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน) กันดารน้ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น